ในบรรดางานระบบไฟฟ้า การเลือกใช้สายไฟให้ถูกประเภทถือเป็นโจทย์หลักของช่างไฟ ซึ่ง สายไฟ CV ก็เป็นหนึ่งในสายไฟที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในงานระบบ เพราะฉะนั้น เราจะมาทำความเข้าใจว่าสายไฟ CV นั้น คืออะไร แล้วมีหน้าที่อะไรกับงานระบบไฟฟ้า ที่สำคัญคือ ควรเลือกใช้สายไฟชนิดนี้ในงานประเภทไหนบ้าง ถึงจะทำให้ได้ประสิทธิภาพที่สูงสุดและปลอดภัยกับงานระบบ
สำหรับการใช้สายไฟ CV นั้น ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักสายไฟชนิดนี้ให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้สามารถนำไปใช้กับตัวงานระบบไฟฟ้าได้อย่างถูกต้อง
- สายไฟ CV มีความหมายว่าอะไร
- ลักษณะของสายไฟ CV
- สายไฟฟ้า CV เหมาะสมกับงานประเภทไหนบ้าง
- ความต่างระหว่างสายไฟ CV และ CV-FD
สายไฟ CV มีความหมายว่าอะไร
สายไฟ CV คือ สายไฟชนิดหนึ่งที่มีแรงดันต่ำ (Low Voltage Power Cable) โดยตัวสายจะมีชนิดของฉนวนเป็น XLPE (Cross-Linked Polyethylene) และใช้เปลือกหุ้มเป็น PVC นอกจากนี้ ยังใช้ทองแดงเป็นตัวนำไฟฟ้า จึงส่งผลให้สามารถรองรับกระแสไฟฟ้าได้ดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสายไฟที่ใช้ฉนวนเป็น PVC ทั้งชนิดหลายแกนและสายแกนเดียว
นอกจากนี้ สายไฟฟ้า CV ยังสามารถทนทานต่ออุณหภูมิและความร้อนได้สูงสุดถึง 90 องศา ทำให้เหมาะสมกับงานหลากหลายลักษณะ อาทิ การเดินสายในรางไฟฟ้า แต่ข้อจำกัดของสายไฟชนิดนี้ก็มีเช่นเดียวกัน คือ ในกรณีที่ติดตั้งในอาคารจะต้องเดินสายในที่ปิดและมิดชิดเท่านั้น แต่เมื่อเทียบกับจุดเด่นที่สามารถทนความร้อนได้ มีความแข็งแรงสูง สามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี จึงทำให้ได้รับความนิยมในงานระบบไฟฟ้า
แต่ในขณะเดียวกันสาย CV ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง นั่นก็คือ ในกรณีที่ใช้สายขนาดใหญ่ในงานระบบไฟฟ้า ก็จะทำให้ติดตั้งได้ลำบาก เพราะเป็นสายไฟฟ้าที่มีความแข็งมากกว่าสายฉนวนประเภท PVC โดยตัวสาย CV ที่คนไทยรู้จักกันมากที่สุดก็คือ สายไฟ CV Yazaki นั่นเอง
ทั้งนี้ เมื่อลองนำมาเทียบกับตัวสายไฟฟ้าที่ใช้ฉนวนเป็น PVC แล้ว สามารถเห็นถึงข้อแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน หลัก ๆ คือ
- มีพิกัดอุณหภูมิในการใช้งานที่สูงมากกว่า
เนื่องจากว่าตัวสาย CV ที่ใช้ในงานระบบไฟฟ้านั้น จะมีพิกัดอุณหภูมิที่มากกว่าตัวสายไฟฟ้าที่ใช้ฉนวนเป็น PVC เพราะฉะนั้น จึงส่งผลให้นำกระแสไฟฟ้าได้ดีและสูงมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าจะมีขนาดตัวนำเท่ากันก็ตาม
- ตัวฉนวนมีความต้านทานต่อไฟฟ้าสูงมากกว่า
นับว่าเป็นจุดเด่นที่เห็นได้ชัด โดยเฉพาะตัวสายไฟ CV ที่ใช้ตัวฉนวนไฟฟ้าแบบ XLPE นั้น มีความแข็งแรงมากกว่า จึงนำไปสู่การต้านทานทางไฟฟ้าที่ดี เพราะฉะนั้น จึงทำให้ตอบโจทย์เรื่องการใช้งานที่หลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการร้อยท่อฝังดิน หรือแม้กระทั่งการใช้สาย CV สำหรับฝังดินโดยตรง เราจึงนิยมเห็นการนำสายไฟชนิดนี้ มาใช้เป็นสายเมนเข้าอาคาร รวมถึงการใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมทั่ว ๆ ไปอย่างแพร่หลาย
ลักษณะของสายไฟ CV
สำหรับการใช้งาน สายไฟ CV นั้น จะมีลักษณะที่สามารถดูได้ง่าย ๆ สำหรับการใช้ในงานระบบไฟฟ้า รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งจากหัวข้อข้างต้นนั้น เราสามารถจำแนกลักษณะของสายไฟ CV ได้ดังนี้
- มีแรงดันต่ำ
- เป็นสายทองแดงตีเกลียว
- หุ้มด้วยฉนวน XLPE ที่ช่วยเรื่องการทนต่ออุณหภูมิได้สูง และทนทานต่อการเสียดสีได้ดี
- คุณสมบัติหลักคือไม่ลามไฟ (FDCV)
- มีความทนทานต่อความร้อนได้สูงสุดที่ 90 องศา
- สามารถรองรับกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าสายฉนวนประเภท PVC
สายไฟฟ้า CV เหมาะสมกับงานประเภทไหนบ้าง
ด้วยลักษณะของสายไฟ CV ที่สามารถทนทานต่อความร้อนได้ค่อนข้างดี บวกกับเป็นสายไฟฟ้าที่มีกำลังแรงดันต่ำนั้น จึงทำให้เหมาะกับงานที่หลากหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็น
- การใช้งานในลักษณะทั่ว ๆ ไป
- เดินลอยในอากาศ สำหรับการจ่ายกำลังไฟฟ้าทั่ว ๆ ไป
- ใช้ในรางเดินสายไฟฟ้า และรางเคเบิลทั้งด้านในและด้านนอกอาคาร
- ร้อยท่อฝังดิน หรือฝังดินโดยตรง
- ร้อยท่อฝังในผนังคอนกรีต
- การใช้เป็นสายเมนของโรงงานหรืออาคาร
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความสับสนเรื่องการเลือกใช้สายไฟฟ้า โดยเฉพาะในกรณีที่ฝังดินโดยตรงและใช้ในท่อร้อยฝังดิน ให้คำนึงเสมอว่าสายไฟมีโอกาสสัมผัสกับความชื้นและน้ำ รวมถึงการกดทับและการทรุดตัวของดิน สายที่เหมาะสมต้องมีพิกัดแรงดันตั้งแต่ 450/750V ขึ้นไป และต้องมีทั้งฉนวน รวมถึงเปลือกหุ้มฉนวนด้านนอกอีกหนึ่งชั้นด้วย เพื่อให้มีความทนทานในการใช้งานนั่นเอง
- ติดตั้งภายในอาคาร
สำหรับการติดตั้งสายไฟ CV โดยเฉพาะภายในอาคารนั้น สิ่งสำคัญที่เป็นข้อบังคับเลยคือ ต้องติดตั้งด้วยการใช้ระบบปิดเท่านั้น ตามมาตรฐานของ วศท. นั่นก็คือ ใช้ในรางเดินสายไฟแบบ Wire Way ยกเว้นว่าจะเป็นสายใช้ CV-FD ที่ได้รับการทดสอบและรับรองแล้วว่า สามารถต้านเปลวเพลิงได้ตามมาตรฐาน IEC 60332-3 category C หรือก็คือสายไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติ Flame Retardant (การต้านเปลวเพลิง) เพราะฉะนั้น ในกรณีที่จะติดตั้งในอาคาร ต้องดูว่าเป็น สาย CV หรือ CV-FD ที่ได้รับการทดสอบแล้ว เพื่อให้ใช้งานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด
ความต่างระหว่างสายไฟ CV และ CV-FD
สำหรับสายไฟ CV และ CV-FD นั้น ถ้าหากลองนำมาเปรียบเทียบความแตกต่างกัน จะมีอยู่เพียงไม่กี่จุดเท่านั้น เพราะโดยลักษณะทั่ว ๆ ไป ก็มีลักษณะที่เหมือนกัน ทั้งเรื่องของการใช้ตัวนำและฉนวนที่ใช้กับตัวสายไฟ รวมถึงการติดตั้งทั่ว ๆ ไป ภายในงานระบบไฟฟ้า โดยในส่วนที่แตกต่างกันนั้น สามารถสรุปคร่าว ๆ ได้ดังนี้
- ตัวเปลือกหุ้มที่ใช้
- ตัวเปลือกของสาย CV จะใช้ PVC
- ตัวสายไฟ CV-FD จะใช้ FRPVC ที่มีคุณสมบัติพิเศษ Flame Retardant หรือก็คือการต้านเปลวเพลิง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการหน่วงไฟ
- การติดตั้งในอาคาร
- หากเป็นสายไฟ CV จะต้องติดตั้งในท่อร้อยเดินสายไฟที่มิดชิดเท่านั้น ตามมาตรฐานการติดตั้ง
- หากเป็นสายไฟ CV-FD สามารถติดตั้งได้เลย โดยไม่ต้องใช้ในท่อเดินสายที่ปิดมิดชิด
อย่างไรก็ตาม การติตตั้งและใช้งาน สายไฟ CV นั้น สิ่งสำคัญคือต้องดูลักษณะการใช้งานของตัวสายให้เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับงานระบบไฟฟ้า เพราะสายไฟนั้นมีหลากหลายประเภท ทั้งแบบ CV, IV, VAF, NYY หรือแม้แต่ THW เพราะสายบางประเภทก็จะระบุอย่างชัดเจนเลยว่า ไม่สามารถติดตั้งแบบฝังดินได้ รวมถึงการติดตั้งบนรางเคเบิล แต่จะเหมาะสมกับการใช้เป็นสายดิน เป็นต้น