การเลือกใช้ ประเภทท่อร้อยสายไฟ ให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน โดยเฉพาะการเดินสายไฟภายในตัวอาคารบ้านเรือนนั้น นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะ ท่อร้อยสาย แต่ละประเภทนั้น ก็จะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็ย่อมส่งผลต่อความปลอดภัยในการดำเนินงาน รวมถึงป้องกันอันตรายต่าง ๆ ทั้งเรื่องไฟฟ้าดูด ไฟฟ้ารั่ว หรือแม้แต่ไฟฟ้าลัดวงจร ทั้งนี้ เราจะพาคุณมาแยกประเภทและทำความรู้จักกับท่อร้อยสายไฟ ว่าแต่ละแบบควรใช้งานอย่างไร มีข้อห้ามอะไรบ้างที่ควรรู้
การเลือกใช้ ท่อร้อยสาย เพื่อนำมาใช้งานในระบบไฟฟ้าภายในตัวอาคารและบ้านเรือน นอกจากจะทำให้สายไฟเป็นระเบียบแล้ว ยังช่วยป้องกันสายไฟจากอันตรายต่าง ๆ ได้ด้วย
- การเดินสายไฟในท่อมีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไรบ้าง?
- รวม 7 ประเภทท่อร้อยสายไฟ ที่ควรรู้จัก
การเดินสายไฟในท่อมีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไรบ้าง?
- ข้อดีของการใช้ ท่อร้อยสายไฟ
- ช่วยป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสายไฟ เช่น การโดนสัตว์กัดแทะ จนทำให้สายไฟขาดหรือชำรุด
- ทำให้อาคารและผนังมีความสวยงาม ดูไม่รกหูรกตา และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
- ป้องกันปัญหาไฟไหม้ได้ เช่น หากเกิดกรณีที่ไฟฟ้าลัดวงจร ตัวประกายไฟที่เกิดขึ้น จะถูกจำกัดให้อยู่เฉพาะในท่อ
- ข้อเสียของการใช้ ท่อร้อยสาย
- ใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานมากกว่าการเดินสายไฟรูปแบบอื่น เช่น แบบเปลือย
- ใช้งบประมาณและค่าใช้จ่ายสูงกว่า เพราะต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น
- การซ่อมหรือเพิ่มสายไฟมีความยุ่งยาก
รวม 7 ประเภทท่อร้อยสายไฟ ที่ควรรู้จัก
สำหรับ ประเภทท่อร้อยสายไฟ ที่ใช้ในงานระบบไฟฟ้า สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ นั่นก็คือ ท่อที่ทำจากโลหะ และท่อที่ไม่ใช่โลหะหรือท่อพลาสติก ซึ่งรวมแล้วจะมีทั้งหมด 7 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้
- ท่อโลหะขนาดบาง EMT
ท่อโลหะชนิดบาง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า EMT (Electrical Metallic Tubing) เป็น ท่อร้อยสาย ที่ทำจากแผ่นเหล็กกล้าชนิดรีดเย็น รีดร้อน หรือที่ถูกเคลือบจากสังกะสี โดยตัวท่อจะมีความมันและวาว ไม่สามารถบิดหรือทำเป็นเกลียวได้ ตัวท่อจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 15 – 50 มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ 10 ฟุต หรือราว ๆ 3 เมตร
สำหรับตัว ท่อร้อยสาย EMT ตามมาตรฐานแล้วจะกำหนดให้ใช้ตัวอักษรสีเขียว ในการระบุชนิดและขนาดของท่อ โดยท่อประเภทนี้จะนิยมใช้กับงานเดินสายไฟประเภทซ่อนในฝ้าเพดานและแบบเดินลอย ไม่ควรใช้ในงานฝังดินหรือฝังในพื้นคอนกรีตโดยเด็ดขาด รวมไปถึงสถานที่ที่อันตราย มีระบบแรงสูง หรือจุดที่อาจเกิดความเสียหายในทางกายภาพได้
ทั้งนี้ ในการใช้งาน ท่อร้อยสาย EMT ที่ดีและสมบูรณ์ จะต้องยึดท่อโดยไม่เกินระยะ 300 เซนติเมตร และในระยะ 90 เซนติเมตร นับจากกล่องต่อสาย กล่องแยกสาย หรือแม้แต่กล่องควบคุม ต้องมีการใช้อุปกรณ์จับยึด ส่วนกรณีที่เดินสายเข้ากับกล่องต่อสาย ควรใช้บุชชิ่งและล็อคนัทด้วย
- ท่อโลหะขนาดกลาง IMC
สำหรับ ท่อร้อยสาย IMC (Intermediate Conduit) นับว่าเป็นท่อโลหะชนิดหนึ่ง โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 15 – 100 มิลลิเมตร มีความยาวท่อนละประมาณ 10 ฟุต เท่า ๆ กัน เป็นท่อที่เคลือบด้วยอีนาเมล จึงทำให้ผิวมีความเรียบทั้งภายในและภายนอก มีความมันวาวในระดับหนึ่ง ตัวปลายท่อมีการทำเกลียวเอาไว้ทั้ง 2 ด้าน
โดยมาตรฐานของตัวท่อถูกกำหนดให้ใช้ตัวอักษรสีส้ม (ในบางครั้งอาจเห็นเป็นสีแดง) ที่จะระบุทั้งขนาดและชนิดของท่อ ทั้งนี้ ตัวท่อจะใช้ในงานเดินลอยนอกอาคาร ฝังผนัง หรือพื้นคอนกรีตได้
- ท่อร้อยสาย RSC
โดยท่อร้อยสายไฟ RSC (Rigid Steel Conduit) นับว่าเป็น ประเภทท่อร้อยสายไฟ อีกหนึ่งชนิดที่ทำด้วยแผ่นเหล็กกล้า ที่ถูกเคลือบผิวทั้งภายนอกและภายในด้วยสังกะสี ส่งผลให้มีความเรียบเสมอกัน โดยท่อชนิดนี้จะมีความหนามากกว่าท่อแบบ EMT และ IMC ตัวปลายท่อจะมีการทำเกลียวเอาไว้ทั้ง 2 ด้าน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 – 150 มิลลิเมตร
โดยตัวท่อจะใช้ตัวอักษรสีดำในการระบุชนิดและขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ความยาวมีขนาดเท่า ๆ กันกับ ท่อร้อยสายไฟ 2 ชนิดแรก นิยมใช้กับงานเดินท่อนอกอาคาร ฝังผนัง รวมถึงพื้นคอนกรีต ซึ่งเป็นท่อที่ผ่านการชุบ Hot-Dip Galvanized จึงทำให้สามารถนำไปใช้งานแทนท่อชนิดบาง รวมถึงท่อชนิดหนาปานกลางได้เลย ที่สำคัญคือ สามารถใช้ในสถานที่ที่มีความอันตรายและฝังดินได้
- ท่อโลหะชนิดอ่อน
ท่อโลหะชนิดอ่อน (Flexible Metal Conduit) เป็น ท่อร้อยสาย ที่ทำมาจากแผ่นเหล็กกล้า ตัวผิวภายนอกและภายในท่อถูกเคลือบด้วยสังกะสี เป็นท่อที่มีความอ่อนตัว สามารถดัดและโค้งงอได้ จึงนิยมใช้กับการป้องกันไม่ให้สายไฟถูกขีดข่วน หรือโดนฝุ่นควันต่าง ๆ มากกว่า อาทิ โรงงาน ภายในตึกอาคารสูง หรือกับงานที่มีเครื่องจักรสั่นสะเทือน
สำหรับท่อโลหะชนิดอ่อนมีให้เลือกใช้ตั้งแต่ขนาด ½ – 4 นิ้ว นิยมใช้ในสถานที่ที่แห้งและสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ควรใช้ในจุดที่เปียกและมีความอับชื้น รวมไปถึงห้องเก็บของ และช่องสำหรับขึ้น-ลง รวมถึงสถานที่ที่อันตราย ทั้งนี้ การติดตั้งท่อจะต้องมีการจับยึดท่อด้วยระยะห่างของอุปกรณ์ไม่เกิน 1.50 เมตร และไม่เกิน 30 เซนติเมตร สำหรับระยะห่างจากกล่องต่อสาย
- ท่อโลหะอ่อนกันน้ำ
โดยท่อโลหะอ่อนกันน้ำ (Rain tight Flexible Metal Conduit) เป็น ท่อร้อยสาย ประเภทโลหะที่มี PVC เป็นเปลือกหุ้มด้านนอก เพื่อช่วยไม่ให้สายไฟโดนความชื้น หรือป้องกันไม่ให้ความชื้นเข้าไปภายในท่อ จึงทำให้ท่อประเภทนี้เหมาะกับการใช้งานในจุดที่ต้องการความอ่อนของท่อเป็นหลัก เพื่อให้ช่วยป้องกันสายไฟฟ้าชำรุดหรือเสียหาย โดยเฉพาะจากของเหลวหรือของแข็งต่าง ๆ ในที่ที่อันตราย เช่น จุดที่มีความเปียกชื้น หรือคราบน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม การใช้งาน ประเภทท่อร้อยสายไฟ ชนิดนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง นั่นก็คือ ห้ามใช้ในจุดที่อุณหภูมิของสายไฟสูงมากเกินไป จนอาจส่งผลให้ท่อมีความเสียหายได้ โดยเฉพาะกับตัวพลาสติก PVC
- ท่อพลาสติก PVC
ท่อร้อยสาย PVC นั้น ตัวท่อมีขนาดตั้งแต่ ½ – 4 นิ้ว ความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ท่อนละ 4 เมตร ทนความร้อนได้สูงสุดที่ 60 องศา เป็นท่อที่มีคุณสมบัติต้านเปลวไฟ แต่ในกรณีที่ถูกไฟไหม้จะก่อให้เกิดก๊าซพิษ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์พอสมควร ทั้งนี้ตัวท่อ PVC จะแบ่งออกเป็น 2 สี คือ สีเหลืองที่ใช้สำหรับการเดินท่อในผนัง และท่อสีขาวที่ใช้สำหรับการเดินท่อแบบลอย
นอกจากนี้ ท่อพลาสติก PVC ยังไม่ทนต่อแสงอัลตราไวโอเลต หรือรังสี UV จึงทำให้เกิดความกรอบได้ง่าย โดยเฉพาะในกรณีที่ติดตั้งในจุดที่เผชิญกับแสงแดด ที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้กับจุดที่อาจเกิดความเสียหายทางกายภาพ
- ท่อร้อยสาย HDPE
อีกหนึ่ง ท่อร้อยสาย ที่ทำจากพลาสติกก็คือ ท่อ HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งทำจากพลาสติก Polyethylene ชนิด High Density ซึ่งเป็นท่อที่มีคุณสมบัติต้านเปลวไฟ มีความแข็งแรงสูงพอสมควร และยังมีความยืนหยุ่นได้ดี มีให้เลือกใช้ทั้งแบบผิวเรียบและแบบลูกฟูก
โดยท่อเดินสาย HDPE จะนิยมใช้ในที่โล่ง บนฝ้าในอาคารบ้านเรือน หรือแม้แต่การใช้เดินสายใต้ดินที่มีทั้งแรงดันต่ำและสูงปานกลาง นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติที่ทนต่อแรงอัดได้ดี มีความอ่อนตัวสูง ไม่ต้องดัดท่อก่อนใช้งาน จึงทำให้การเดินท่อสะดวกมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดเด่นของท่อชนิดในบรรดา ประเภทท่อร้อยสายไฟ
ในบรรดา ประเภทท่อร้อยสายไฟ ทั้ง 7 ประเภทนั้น ก็นับว่ามีจุดเด่นและการใช้งานที่แตกต่างกันพอสมควร ทั้งนี้ หากคุณอยากจะใช้ ท่อร้อยสาย ก็ควรศึกษางานระบบไฟฟ้าจุดที่ต้องการใช้ให้ดี เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกท่อสำหรับร้อยสายไฟเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องความทนทานและสถานที่ที่สามารถนำไปใช้งานได้ ทั้งนี้ ก่อนจะเลือกซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ก็ควรศึกษาเรื่องมาตรฐานด้วย เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพมากที่สุด